ร้อยเล่ห์เสน่ห์มาร
เหล่าทาสน้องหมาน้องแมวเชิญติดตาม สี่ขาสองสายพันธุ์ ยอดคู่กัด ต้องสามัคคีจับขา ร่วมคลี่ปมปัญหาที่บรรดานาย ๆ ผจญ เมื่อเสน่ห์เล่ห์มนุษย์ ผนวกอัจฉริยะของสองเกลอ มาเจอกัน ความจริงจึงปรากฏ จบดี๊ดี
ผู้เข้าชมรวม
294
ผู้เข้าชมเดือนนี้
1
ผู้เข้าชมรวม
ข้อมูลเบื้องต้น
คุณแน่ใจว่าต้องการคืนค่าการตั้งค่าทั้งหมด ?
ตอนที่ ๑
กรุงเทพมหานคร..เมืองหลวงสุดอึกทึก ไม่เคยหลับพักยามราตรี จวบเช้าจรดวันใหม่ ผู้คนมากมายหลายพื้นเพ แย่งกันกิน แย่งกันอยู่ ความเจริญไม่ทัดเทียม ด้านหน้าเป็นอาคารสูง สำนักงานใหญ่โตแสนทันสมัย
หากเบื้องหลัง..คนหาเช้ากินค่ำ รวมกันอยู่แออัดในชุมชน คนดีคนเลวปะปน แยกกันไม่ออก ขึ้นชื่อว่าชุมชนแออัด สายตาของคนส่วนใหญ่ โดยเฉพาะผู้ที่มีนิวาสถานใกล้แหล่งเสื่อมโทรม ไม่โสภา ต่างมองว่าคือ แหล่งสะสมปัญหาสังคม สมควรจัดระเบียบผังเมืองอย่างเร่งด่วน
กรุงเทพมหานคร..เมืองฟ้าอมร พื้นที่ทุกตารางเมตรล้วนประเมินเป็นเงินเป็นทอง มุมมองของเจ้าของที่ดินบางรายจึงคิดผันความว่างเปล่า ให้ทันกับความเจริญที่กระจุกตัว แม้แผ่นดินกรุงเทพฯ ทรุดปีละหลายมิลลิเมตร แต่กว่าเมืองหลวงของไทยจะกลายเป็นทะเล ที่ดินเหล่านั้นก็หาผลประโยชน์คุ้มเกินคุ้ม ซื้อเกาะแห่งใหม่อยู่ได้อย่างสบาย
ทว่าชาวชุมชนอีกหลาย ๆ ครอบครัวจะเป็นฉันใด ใครคำนึงถึงบ้างว่า พวกเขาก็คือ คนไทย..มีสิทธิ์พักพิงบนแผ่นดินเกิดเช่นกัน นี่คือ ปัญหาที่ถกแก้กันไม่ตกเสียที
ใครจะว่ากระไร เปลี่ยนแปลงอย่างไร ชีวิตคนธรรมดาเดินดินค่อนเมือง ก็ยังต้องสู้ต่อไป ตัวอย่างเช่น นางสมพิศ..หญิงชราวัย ๗๐ ปี สมาชิกรุ่นเก่า ประจำชุมชนแออัดแห่งหนึ่งของเมืองหลวง ไม่เคยทำตัวเป็นปัญหาสังคม แม้ไร้การศึกษาและทรัพย์มากมาย แต่นางก็ขยันขันแข็ง หาเลี้ยงชีพด้วยการร้อยมาลัย ให้บรรดาเด็กชายหญิงในชุมชน เดินเร่ขายตามสี่แยกไฟแดง ละแวกไม่ไกล คนทำ คนขายมีรายได้จุนเจือครอบครัว ไม่เป็นภาระต่อสังคม
“สวัสดีจ้ะยาย มาลัยเหลือเยอะมั๊ย” สาวพุดร้อย..สาวรุ่นกำลังงาม สะพายกระเป๋าไพล่ไหล่ หน่วยก้านดี พิจารณาตั้งแต่ศีรษะจรดเท้า มิใช่เด็กขายพวงมาลัยแน่นอน ยกมือพนมคนนั่งร้อยพวงมาลัยดอกไม้เพลิน แว่นตาอันเก่าคร่ำคร่าใส่ติดหน้า ไม่เคยเปลี่ยน และไม่ซ้ำใคร มันเป็นเอกลักษณ์ประจำกายยายสมพิศ ที่ทุกคนชินตา
“อีก ๑๐๐ พวงมั๊ง” ดวงตาสีดำเทาเพราะวัยชรา เล็งดอกไม้สดคร่าว ๆ ก่อนเงยขึ้นมองสาวผิวขาวขึ้น ดูมีน้ำมีนวลกว่าสมันเด็ก ๆ
“ร้อยช่วยจ้ะ” คนแต่งตัวทะมัดทะแมง เสื้อยืด กางเกงยีนส์ ปลดกระเป๋าออกวางบนชานบ้าน ก่อนนั่งขัดสมาธิ หยิบจับอุปกรณ์ร้อยดอกไม้คล่องมือ
“ไปอาบน้ำอาบท่าก่อนสิ กลับมาร้อน ๆ” ยายสมพิศแนะคนเพิ่งกลับเข้าบ้าน
“ช่วยยายแป๊บเดียวก็เสร็จ ค่อยไปอาบทีเดียว” สาวไม่คุยอวด ลงมือร้อยพวงมาลัย ว่องไวกว่าเจ้าของเสียอีก
“ไม่หิวข้าวเหรอ เย็นป่านนี้” ดวงตาหลังแว่นกรอบดำอันโต ไม่ทันสมัย เหลือบดูนาฬิกาติดผนัง บอกเวลา ๑๗.๓๐ น.
“เดี๋ยวกินพร้อมยายก็ได้จ้ะ” ปากบาง ๆ จ้อไป มือก็ทำงานไม่วาง ดอกมะลิกับดอกรัก ร้อยเข้าชุดเป็นพวง วางเรียงเป็นระเบียบ รออุบะดอกรักกับกุหลาบสลับดาวเรืองมัดติด ก็เสร็จเป็นพวงมาลัยสมบูรณ์ ขายพวงละ ๕ บาท ๑๐ บาท ๒๐ บาท สนนราคาแล้วแต่ลูกค้าเลือก
“จะหิวท้องกิ่วเปล่า ๆ เรียนมาทั้งวันไม่ใช่เหรอ” ยายของหลานสาววัยใกล้จบมหาวิทยาลัย นึกเห็นใจคนรักดี ไม่ทิ้งการเรียน แม้ฐานะทางบ้านไม่อำนวย หากสาวไม่นิ่งเฉย ทำงานไป เรียนไป ไม่ลำบาก
“จ้ะ ใกล้จบ ต้องทุ่มเทหน่อย ป้าไพให้พักงาน จนกว่าจะสอบเสร็จ จบแล้ว ร้อยจะได้สมัครงานบริษัทเป็นเรื่องเป็นราว” ว่าที่บัณฑิตไม่กลัวตกงาน เพราะไม่เลือกงาน บอกยิ้ม ๆ
“ป้าเขาจะให้เราช่วยงานไม่ใช่หรือ” มือเหี่ยวย่นง่วนงานไม่เชื่องช้า ร้อยอุบะส่งให้หลานสาว ประกอบเป็นพวงมาลัยทันใจ
“งานกลางคืน ร้อยกะทำเป็นงานพิเศษจ้ะ กลางวันทำงานประจำ มั่นคงกว่า” สาวเปรยแผนทำงานหนัก เพื่อสร้างครอบครัว ชีวิตในชุมชนแออัด ไม่ใช่แหล่งพักพิงถาวร สักวันเจ้าของที่ดินรุ่นใหม่คงคิดขยับขยาย ผันที่ว่างเปล่าเป็นศูนย์การค้า โรงแรมหรือสำนักงานใหญ่โต
“จะไหวเหรอ” คนทำงานหนักมาตลอดชีวิต มองหลานรุ่นหลังแน่ว
“ยายคอยดู ร้อยจะทำงานเเก็บเงิน ผ่อนบ้านเล็ก ๆ สักหลัง” หลานสาวยิ้มยืนยันความตั้งใจ
“หึ..บ้านสมัยนี้หลังละเป็นล้าน ต้องทำงานหัวโตแน่” คนแก่ไม่เคยมีเงินออมเกินหลักหมื่น ส่ายหน้ากับภาระหนักอึ้ง เกินบ่าบอบบางสองข้างของสาวเจียนย่างเข้า ๒๑ ปีบริบูรณ์ ในอีกไม่กี่เดือนข้างหน้า
“ร้อยไม่หวั่น ขอให้ยายไปอยู่ด้วยเท่านั้น” หลานสาวอ้อนเป็นเด็ก ๆ
“ยายจะอยู่ถึงวันนั้นหรือเปล่าก็ไม่รู้” คนสูงวัยไม่กังวลกับการดับสิ้นตามสังขาร เปรย
“ยาย..ยายต้องอยู่กับร้อย กับพันไปอีกนาน ๆ นะจ๊ะ” มือเรียวคล่องงานชะงักกึก พลางเอื้อมมากุมมือหยาบ เหี่ยวย่น เพราะตรากตรำงาน เลี้ยงลูกหลานมาทั้งชีวิต
“หึ ๆ เรากับพันจบ ยายก็จะกลับบ้านเก่าแล้ว”
“ไม่นะจ๊ะยาย ยายต้องอยู่ ให้ร้อยกับพันเลี้ยงยายบ้าง”
“เลี้ยงพ่อกับแม่เราเถอะ เป็นคนงานก่อสร้าง เร่ร่อนไปเรื่อย กลับมาอยู่กับลูก ค้าขายสบายใจกว่า”
“ร้อยไม่ทิ้งพ่อแม่หรอกจ้ะ แต่ยายต้องอยู่ด้วย” หลานสาวรู้สึกอุ่นใจ ที่มียายสมพิศร่วมบ้าน ยายผู้คอยเลี้ยงดูใกล้ชิด เป็นผู้ปกครองแทนบุพการี ซึ่งสถานที่ทำงานโยกย้าย ไม่เป็นหลักแหล่ง
“อย่าเพิ่งพูดเลย รีบ ๆ ร้อยเข้า เดี๋ยวยายจะหิวข้าวตายก่อน” ผู้เป็นยายรู้สึกชื่นใจ ที่หลานสาวและหลานชายเป็นคนดีสมใจ
“จ๊ะ วันนี้พันทำอะไรให้ยายกินจ๊ะ” สาวพุดร้อยกลับมาสนใจงานตรงหน้า เอ่ยถามถึงน้องชาย ผู้มีหน้าที่ดูแลครัวแทนสาว ยามเคร่งเครียดกับการเรียน
“พะโล้กับน้ำพริกผักจิ้ม เดี๋ยวคงกลับมาผัดกะเพราของโปรดเพิ่ม” ยายสมพิศคาดเดา อาหารถูกปาก หลานสาวกับหลานชายขยันทำให้รับประทาน คนมีหน้าที่ร้อยพวงมาลัย ไม่ต้องเหนื่อยทำครัวหรือดูแลบ้าน หลาน ๆ โตพอ ช่วยแบ่งเบาภาระ ไม่น่าหนักใจ คนขยันรู้จักจัดตารางการเรียนและรับผิดชอบหน้าที่ อนาคตต้องไม่ลำบาก เช่นรุ่นปู่ย่าตายายและพ่อแม่แน่นอน
กลิ่นผัดกะเพราหมูสุดฉุน จามกันลั่นบ้าน ฝีมือพ่อครัวหน้าใส วัยมัธยมศึกษาตอนปลาย ยังสวมชุดนักเรียนเต็มคราบ เพราะเพิ่งกลับจากเรียนพิเศษ กิจกรรมเสริมหลังเลิกเรียน คนต้องลุยสนามสอบเข้ามหาวิทยาลัย ช่วงปิดภาคปลายอีกรอบ วุ่นไม่น้อย
“เสร็จแล้วคร้าบ..ของโปรดของยาย วันนี้พันผัดจานโตเลย หิวมาก ๆ” พันวา..พ่อครัวหนุ่มน้อยตักอาหารใส่จาน ยกมาตั้งตรงชานบ้าน ยกพื้นสูงจากถนนทางเดินแคบ ๆ หน้าบ้าน แค่บันได ๓ ขั้น
“พวงมาลัยก็เสร็จพอดี” สาวพุดร้อยเรียงมาลัยใส่ถุง เตรียมส่งคนมารับไปขาย ไม่ต้องลุยแยกจราจรเอง
“ไปอาบน้ำสิ จะได้มากินข้าวพร้อม ๆ กัน” ยายสมพิศปลีกตัวไปอาบน้ำก่อน บอกหลาน ๆ ที่ยังมอมแมม จากกิจกรรมวัยเรียน
“ยายจะหิวนะสิจ๊ะ ร้อยอาบน้ำช้า” หลานสาวรักความสะอาด เกรงคนแก่ท้องกิ่ว
“ยายกินขนมนี่ของพัน รองท้องก่อนก็ได้” ผู้เป็นยายเปิดถุงขนมมันปิ้ง เผือกปิ้ง ลูกกลม ๆ หอม ๆ หม่ำอร่อย
“พี่ร้อยอาบน้ำก่อนเลย เดี๋ยวพันเอามาลัยไปส่งที่สี่แยกเอง ไม่ต้องรอป้าแหววมารับ” หนุ่มน้อยพันวาไม่ปล่อยเวลาว่างสูญเปล่า จัดการส่งสินค้า ถึงมือลูกค้าเร็วทันใจ
“ปั่นจักรยานดี ๆ ล่ะ รถตรงสี่แยกเยอะแยะ” ยายสมพิศเตือนซ้ำ
“ครับ กลับมา ข้าวสุกพอดี” คนหิ้วถุงมาลัยหย่อนใส่ตะกร้าจักรยานคันเก่าคู่ตัว หันมารับคำยิ้ม ๆ
“ร้อยจะรีบอาบน้ำจ้ะ” สาวพุดร้อยรีบเดินเข้าบ้าน ไปจัดการธุระส่วนตัว ให้ทันร่วมวงอาหารพร้อมหน้า ยายและหลาน ๆ สมาชิกที่เหลือแยกย้ายกันไปประกอบอาชีพ
นางไพลิน..ผู้เป็นป้า ทำงานในสถานบันเทิงย่านดัง มีที่อยู่ที่กินฟรี หมั่นมาเยี่ยมนางสมพิศทุกสัปดาห์ ส่วนนางพิไล..มารดาและนายทินกร ผู้เป็นบิดา ตามติดงานก่อสร้างไปในที่ต่าง ๆ วันหยุดสงกรานต์จึงได้รวมญาติครบ
ชีวิตดิ้นรนในเมืองหลวง ไม่มีเวลาคิดถึงความสุขพร้อมหน้า มีใช้ ท้องอิ่ม มีที่ซุกหัวนอน เท่านี้ก็สุขสำหรับครอบครัวของสาวพุดร้อย แต่อนาคตในวันข้างหน้า สาวตั้งใจสร้างฐานะ ไม่เป็นคนชุมชนแออัดไปตลอดกาล วันนั้นคงไม่นานเกินอายุขัยของนางสมพิศ..ผู้เป็นยายสุดที่รัก
สี่แยกไฟแดง รถราจอแจ เสียงอึกทึก ชินความรู้สึกคนกรุงและเด็กขายพวงมาลัย แยกไหนไม่มีมาลัยขาย ผิดเอกลักษณ์กรุงเทพมหานคร ผู้ขับขี่ ผู้ขายพึงใจ ไม่รกตา หรือกีดขวางการจราจร มาลัยหอม ๆ สูดดมแสนเย็นชื่นใจ ดอกไม้ไทย ๆ คนไทยไม่นิยม จะหวังให้ชาติใดชื่นชม
“อ้าว..เจ้าพัน ขอบใจ ๆ อุตส่าห์เอามาลัยมาส่ง” นางแหวว..คนคอยจัดระเบียบเด็กขายพวงมาลัย ไม่แย่งชิง ทะเลาะเบอะแว้ง ยิ้มรับหนุ่มน้อย..อดีตคนขาย ที่วางมือไปนาน เพราะเรียนหนัก
“พันว่างครับ ขายดีมั๊ยล่ะป้า” หนุ่มน้อยพันวาหิ้วถุงมาลัยชุดสุดท้ายประจำวัน มาส่งถึงแคร่นั่งสบาย ใต้สะพานข้ามแยก กันฝนกันแดดดีเหลือเกิน
“ขายดีสิ ลูกค้าประจำทั้งนั้น”
“ป้าแหววคุมดี เด็ก ๆ ของเรามีมารยาท จ่าสม..ประจำป้อมไฟ ยังชม” หนุ่มน้อยมองเด็กรุ่นน้อง ที่เดินขายมาลัยเป็นระเบียบเรียบร้อย ลูกค้าเมตตาอุดหนุน ไม่เคยขาด
“เด็กของเราไม่ใช่เด็กมีปัญหานี่นา ขยันทำงาน ไม่มั่วสุม ใครชอบว่าเด็กสลัมสร้างปัญหา ป้าเถียงแหลก” คนตรงไม่เกี่ยวข้องกับอบายมุขทุกประเภท รับประกันคุณภาพเด็กในสังกัด
“ครับ พี่ร้อยกับพันเป็นตัวอย่าง” หนุ่มน้อยคุยอวด
“เออ..สอบเข้ามหา’ลัยได้ ป้าจะรำแก้บนตรงสี่แยกนี่เลย” คนสนับสนุนให้เด็กรักการเรียน รู้สึกภูมิใจกับความก้าวหน้าของเด็กชุมชนสองพี่น้อง สภาพแวดล้อมมิใช่อุปสรรคขัดขวางอนาคต ทุกอย่างอยู่ที่ตัวเรา
“แหะ ๆ ๆ จ่าสมจะจับหรือเปล่าป้า” หนุ่มน้อยแซวคนชอบรำ
“จับก็จับ รำให้คนขับรถไปมาชม ถือเป็นบุญตา ทีจ่าสมรำเป่านกหวีด ไล่รถ คนยังอมยิ้ม” คนคลุกคลีกับสภาพการจราจรและการปฏิบัติงาน ของเจ้าหน้าที่ตำรวจจราจร นึกถึงกิจกรรมผ่อนคลายความเครียด ยามชั่วโมงเร่งด่วน ได้ผลไม่น้อย
“ยังไงก็รำให้เข้าจังหวะกับนกหวีดจ่าสมล่ะป้า ไม่งั้นคนขับรถงงตาย”
“พูดแบบนี้ แสดงว่าป้าต้องได้รำแก้บนสิ”
“เตรียมชุดหรือยังล่ะป้า”
“อู๊ย..รุ่นนี้ ไม่ต้องห่วง ชุดนางรำชุดเก่ายังใช้ได้” อดีตนางเอกลิเกยิ้มหน้าบาน พร้อมรับงานอีกครั้ง แม้จะวางมือมานาน แต่สายเลือดลิเกเก่า ไม่เคยจืดจาง
“พันไปก่อนนะป้า ยายรอกินข้าวอยู่” หนุ่มน้อยเอ่ยลา เมื่อไฟสัญญาณจราจรแยกทางกลับบ้านเหลืองวาบ หากไม่ทันเปลี่ยนเป็นสีแดง เสียงล้อรถที่พยายามขับฝ่าไฟเหลืองให้ทัน แต่ต้องหยุดกะทันหัน ดังเสียดพื้นถนนจนแสบหู ตามติดด้วยเสียงลูกสุนัขร้องเอ๋ง ๆ คนหันหัวจักรยาน เตรียมเบนลงถนนและทุกคนบริเวณนั้น ต่างตกตะลึง
“ตาเถร..ยายชี..ไอ้ลูกหมานั่นตายแหง” นางแหววลุกพรวด ร้องลั่น มือก็ทาบอกด้วยความตกใจ
“ไม่ตายป้า นั่น..มันวิ่งไปหลบหลังป้อมจราจรแล้ว” หนุ่มน้อยพันวายิ้มโล่งใจ ลูกสุนัขเพิ่งเกิดใหม่ไม่กี่วัน ช่างซุกซนจริง
“จ่าสม..ห้ามรถยังไง จะเหยียบหมาตาย” คนจัดระเบียบเด็กขายพวงมาลัย ตะโกนโทษเจ้าหน้าที่ตำรวจ คนคุ้นเคยหน้าตาเฉย
“อ้าว..ยัยแหวว ฉันมีหน้าที่ดูรถ ไม่ใช่ดูหมานี่” นายตำรวจร่างสันทัด ผิวคล้ำแดด วิ่งไปตรวจสอบที่เกิดเหตุว่องไว แต่ไม่ลืมหันมาชี้แจงความไม่บกพร่องในหน้าที่
“นั่นแหละ..ดูรถยังไง ให้ฝ่าไฟแดงได้” คำตำหนิโต้กลับไปมาไม่เลิก
“บ๊ะ..ยัยนี่..เดี๋ยวพ่อจับ ฐานดูหมิ่นเจ้าพนักงานหรอก” คนคุ้นเคยไม่ถือโกรธ แต่ต่อปากเพียงให้คลายเครียด ก่อนหันไปตักเตือนรถยนต์คันก่อเหตุ
“ป้า..จ่าสมพูดถูกนะ ถนนคนเดิน ไม่ใช่ให้หมาข้าม” หนุ่มน้อยพันวายิ้มขันคนวัยเดียวกัน เถียงกันเป็นเด็ก ๆ
“แต่หมาก็มีชีวิตเหมือนคน” นางแหววสรุปไม่ผิด
“ครับ แล้วหมาใครล่ะป้า ต้องโทษเจ้าของ ที่ไม่ดูแล”
“ไม่มีเจ้าของหรอก มันเกร่ไปมาแถว ๆ ป้อมจราจรหลายวันแล้ว จ่าสมสงสาร เลยให้อาหาร มันเลยไม่ไปไหน” ผู้ล่วงรู้ที่มาบอกเล่า พลางนั่งจัดพวงมาลัย เตรียมแบ่งขาย
“เหรอป้า” นัยน์ตาแฝงแววเมตตามองสุนัขเกือบเคราะห์ร้าย ที่จ่าสมหมายโอบอุ้ม เข้าไปไว้ในป้อมเรียบร้อย วันนี้เจ้าสุนัขแสนซนโชคดีหวุดหวิด หากวันข้างหน้า มันจะเป็นฉันใด หนุ่มน้อยพันวาใคร่รู้เหลือเกิน
ผลงานอื่นๆ ของ ไนน์น้อย ดูทั้งหมด
ผลงานอื่นๆ ของ ไนน์น้อย
ความคิดเห็น